วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

มอร์ฟีน (Morphine)



มอร์ฟีน (Morphine)


มอร์ฟีนเป็นแอลคะลอยด์ (Alkaloid) ของฝิ่นที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้ฝิ่นมีฤทธิ์เดชแห่งความมึนเมา ชาวเยอรมันชื่อ Serturner เป็นผู้สกัดจากฝิ่นเมื่อปี ค.ศ. 1803 (พ.ศ. 2346) ได้เป็นครั้งแรก ฝิ่นชั้นดีจะมีมอร์ฟีนประมาณ 10% - 16% ฝิ่นหนัก 1 ปอนด์นำมาสกัดจะได้มอร์ฟีนประมาณ 0.22 ออนซ์ หรือ 6.6 กรัม มอร์ฟีนมีลักษณะ 2 รูป คือ รูปอิสระ (Free) และรูปเกลือ (Salt) สำหรับที่มีลักษณะเป็นรูปของเกลือ ได้แก่ ซัลเฟท (Sulfate) ไฮโดรครอลไรด์ (Hydrochloride) อาซิเตท (Acetate) และทาร์เตรท (Tartrate) มอร์ฟีนรูปเกลือที่นิยมทำมากคือ Sulfate ในปัจจุบันมอร์ฟีนสามารถทำขึ้นได้ โดยการสังเคราะห์ด้วยกรรมวิธีทางเคมีแล้ว
มอร์ฟีนเป็นผงสีขาวหรือเทาเกือบขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขม มีฤทธิ์สูงกว่าฝิ่น เสพติดได้ง่าย มีลักษณะเป็นเม็ด เป็นผง และเป็นก้อน หรือละลายบรรจุหลอดสำหรับฉีด นำเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีฉีดเป็นส่วนมาก มอร์ฟีนใช้เป็นยาหลักหรือยามาตรฐานของยาแก้ปวด ยาจำพวกนี้กดระบบประสาทส่วนกลาง ลดความรู้สึกเจ็บปวด ทำให้รู้สึกง่วงหลับไป และลดการทำงานของร่างกาย อาการข้างเคียงอื่น ๆ ก็คือ อาจทำให้คลื่นเหียนอาเจียน ท้องผูก เกิดอาการคันหน้า ตาแดงเพราะโลหิตฉีด ม่านตาดำหดตีบ และหายใจลำบาก
ฤทธิ์ทางเสพติด :
มอร์ฟีนออกฤทธิ์กดระบบประสาท มีอาการเสพติดทั้งร่างกายและจิตใจ มีอาการขาดยาทางร่างกาย
อาการผู้เสพ :
คลื่นเหียนอาเจียน ท้องผูก เกิดอาการคันหน้า ตาแดง ซึม ง่วงนอน ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม
โทษที่ได้รับ :
ร่างการทรุดโทรม สมองมึนชา สติปัญญาเสื่อมโทรม

เฮโรอีน (Heroine)


เฮโรอีน (Heroine)

      เฮโรอีน เป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์กดประสาท จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 1 ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เป็นสารสังเคราะห์ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับฝิ่น และมอร์ฟีน มีชื่อทางวิทยศาสตร์ว่า ไดอาเซททิลมอร์ฟีน (Diacetylmorphine) สูตรเคมีคือ C21H23NO5 เฮโรอีนที่นำมาเสพจะอยู่ในรูปเกลือเช่น เฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ มีลักษณะเป็นผงสีขาว รสขม แต่สีจะเปลี่ยนไปตามองค์ประกอบที่ใส่เข้าไปในขบวนการผลิต เฮโรอีนมีชื่อเรียกอื่นเช่น ผงขาว แค็ป
       ผลของการเสพเฮโรอีนเข้าสู่ร่างกาย เฮโรอีนสามารถเสพได้หลายวิธี เช่นการฉีด การสูดเข้าจมูก หรือสูบการเสพโดยวิธีสูบควันจะเข้าสู่สมองภายใน 7 วินาที และหากเสพโดยวิธีฉีดจะออกฤทธิ์ภายใน 30 วินาที เมื่อเฮโรอีนเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเริ่มออกฤทธิ์ทันที ผู้เสพจะรู้สึกเสียวซ่านอย่างแรงอยู่นาน 1-2 นาที ต่อจากนั้นจะรู้สึกตัวร้อนวูบวาบ ปากแห้ง แขนขาหนักอึ้ง ไม่มีความเจ็บปวด เคลิบเคลิ้มและผ่อนคลายความเครียด ผู้ที่ใช้เฮโรอีนเป็นเวลานานมักไม่เกิดอาการเสียวซ่านอย่างที่เคยใช้ในครั้งแรกๆ แต่มักเสพยาเพื่อไม่ให้เกิดอาการถอนยา ฤทธิ์อื่นๆ ของเฮโรอีนที่มีผลต่อร่างกาย ได้แก่ ฤทธิ์ระงับอาการไอ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก กดการหายใจ ม่านตาดำหดตัว (miosis)
       เฮโรอีนเป็นยาเสพติดที่ก่อให้เกิดการเสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง แม้จะทดลองเสพเพียงไม่กี่ครั้งก็ตาม ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับมอร์ฟีนและฝิ่นแล้ว พบว่าเฮโรอีนมีฤทธิ์ทำให้เสพติดได้ง่ายกว่ามาก ผู้เสพเป็นเวลานานร่างกายจะทรุดโทรม น้ำหนักตัวลด ความคิดสับสน และมีรอยเข็มฉีดยาตามแขน
       อาการถอนยาคือ กระสับกระส่าย เกิดอาการอยากยา หาว น้ำมูกน้ำตาไหล เหงื่อออกมากผิดปกติ หนาวสั่น เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีอาการเจ็บปวดทั่วร่างกาย อาการถอนยาดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการฉีดเข็มสุดท้ายไปแล้ว 8 - 12 ชั่วโมง และจะรุนแรงขึ้นอีกในวันที่ 2 และ 3 จากนั้นอาการจะลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 7 -10 จึงจะเข้าสู่ปกติ และจะหายโดยสิ้นเชิงภายใน 1 เดือน
       บทกำหนดโทษ
       - ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ หนึ่งล้านบาท ถึงห้าล้านบาท
       - ผู้เสพ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 - 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ยาบ้า หรือ ยาม้า


ยาบ้า

ยาบ้า เป็นชื่อที่ใช้เรียกยาเสพติดที่มีส่วนผสมของสารเคมี ประเภทแอมเฟตามีน (Amphetamine) สารประเภทนี้แพร่ระบาดอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ แอมเฟตามีนซัลเฟต (Amphetamine Sulfate) เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) และเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ (Methamphetamine Hydrochloride) ซึ่งจากผลการตรวจพิสูจน์ยาบ้าปัจจุบันที่พบอยู่ในประเทศไทยมักพบว่า เกือบทั้งหมดมีเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ผสมอยู่
ยาบ้า จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร น้ำหนักเม็ดยาประมาณ 80-100 มิลลิกรัม มีสีต่างๆ กัน เช่น สีส้ม สีน้ำตาล สีม่วง สีชมพู สีเทา สีเหลืองและสีเขียว มีสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเม็ดยา เช่น ฬ, M, PG, WY สัญลักษณ์รูปดาว, รูปพระจันทร์เสี้ยว, 99 หรืออาจเป็นลักษณะของเส้นแบ่งครึ่งเม็ด ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้อาจปรากฏบนเม็ดยาด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน หรืออาจเป็นเม็ดเรียบทั้งสองด้านก็ได้
ฤทธิ์ในทางเสพติด :
ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท มีอาการเสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่มีอาการขาดยาทางร่างกาย
อาการผู้เสพ :
เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย ในระยะแรกจะออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยา จะรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ประสาทล้าทำให้การตัดสินใจช้า และผิดพลาด เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้สมองเสื่อม เกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง เสียสติ เป็นบ้าอาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ หรือในกรณีที่ได้รับยาในปริมาณมาก (Overdose) จะไปกดประสาท และระบบการหายใจทำให้หมดสติ และถึงแก่ความตายได้
โทษที่ได้รับ :
การเสพยาบ้าก่อให้เกิดผลร้ายหลายประการ ดังนี้
  1. ผลต่อจิตใจ เมื่อเสพยาบ้าเป็นระยะเวลานานหรือใช้เป็นจำนวนมาก จะทำให้ผู้เสพมีความผิดปกติทางด้านจิตใจ กลายเป็นโรคจิตชนิดหวาดระแวง ส่งผลให้มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดอาการหวาดหวั่น หวาดกลัว ประสาทหลอน ซึ่งโรคนี้หากเกิดขึ้นแล้ว อาการจะคงอยู่ตลอดไป แม้ในช่วงเวลาที่ไม่ได้เสพยาก็ตาม
  2. ผลต่อระบบประสาท ในระยะแรกจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะมีอาการประสาทล้า ทำให้การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ช้า และผิดพลาด และหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้สมองเสื่อม หรือกรณีที่ใช้ยาในปริมาณมาก (Overdose) จะไปกดประสาทและระบบการหายใจ ทำให้หมดสติและถึงแก่ความตายได้
  3. ผลต่อพฤติกรรม ฤทธิ์ของยาจะกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมความก้าวร้าว และความกระวนกระวายใจ ดังนั้นเมื่อเสพยาบ้าไปนาน ๆ จะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ผู้เสพจะมีความก้าวร้าวเพิ่มขึ้น และหากยังใช้ต่อไปจะมีโอกาสเป็นโรคจิตชนิดหวาดระแวง เกรงว่าจะมีคนมาทำร้ายตนเอง จึงต้องทำร้ายผู้อื่นก่อน 

กัญชา (Cannabis, Marihuana, Ganja)


กัญชา (Cannabis, Marihuana, Ganja)
กัญชา เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้าขึ้นได้ง่ายในเขตร้อน ลำต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5-8 แฉก คล้ายใบมันสำปะหลัง ที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามของกิ่งและก้าน ส่วนที่คนนำมาเสพได้แก่ ส่วนของกิ่ง ก้าน ใบและยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้งแล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบๆ จากนั้นจึงนำมายัดไส้บุหรี่สูบ (แตกต่างจากบุหรี่ทั่วไปที่ไส้บุหรี่จะมีสีเขียวต่างจากไส้ยาสูบที่มีสีน้ำตาล และขณะจุดสูบจะมีกลิ่นเหมือนหญ้าแห้งไหม้ไฟ) หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บ้างก็ใช้เคี้ยว หรือผสมลงในอาหารรับประทาน ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบนอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อนแล้วยังอาจพบในรูปของ "น้ำมันกัญชา" (Hashish Oil) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลายๆ ครั้งจึงได้เป็นน้ำมันกัญชาที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงถึง 20-60% หรืออาจพบในลักษณะของ "ยางกัญชา" (Hashish) เป็นยางแห้งที่ได้จากใบและยอดช่อดอกกัญชา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีฤทธิ์แรงกว่ากัญชาสด และมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประมาณ 4-8%
         กัญชา เป็นยาเสพติดให้โทษที่ออกฤทธิ์หลายอย่างต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือ ทั้งกระตุ้น กดและหลอนประสาท สารออกฤทธิ์ที่อยู่ในกัญชามีหลายชนิด แต่สารที่สำคัญที่สุดที่มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกาย อารมณ์และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydro Cannabinol) หรือ THC ที่มีอยู่มากในส่วนของยอดช่อดอกกัญชา สาร THC นี้ ในเบื้องต้นจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพตื่นเต้น ช่างพูด และหัวเราะตลอดเวลา ต่อมาจะกดประสาททำให้ผู้เสพมีอาการคล้ายเมาเหล้าอย่างอ่อนๆ เซื่องซึมและง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมากๆ จะหลอนประสาททำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้
เพศของกัญชา
         กัญชาที่ปลูกนั้นอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรกปลูกเพื่อนำเส้นใยมาทอผ้า พวกนี้จะให้สารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเพียงเล็กน้อย ส่วนอีกพวกหนึ่ง จะให้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่รุนแรงจึงมักปลูกเพื่อใช้ในการเสพโดยเฉพาะ ต้นกัญชามีทั้งต้นตัวผู้และตัวเมีย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ด้วยกันทั้งสองเพศ แต่ส่วนใหญ่นิยมต้นตัวเมียมากกว่าต้นตัวผู้ เพราะต้นตัวเมียจะมีช่อดอก ช่อใบ ซึ่งเป็นส่วนที่มีปริมาณของสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงกว่าส่วนอื่น โดยเฉพาะส่วนยอดช่อดอกตัวเมีย ที่เรียกว่า "กะหรี่กัญชา"
ฤทธิ์ในทางเสพติด :
          ออกฤทธิ์ผสมผสานทั้งกระตุ้น กดและหลอนประสาท มีอาการเสพติดทางจิตใจ ไม่มีอาการขาดยาทางร่างกาย
อาการผู้เสพ :
          อารมณ์อ่อนไหวเปลี่ยนแปลงง่าย ความคิดเลื่อนลอยสับสน ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความจำเสื่อม กล้ามเนื้อลีบ หัวใจเต้นเร็ว หูแว่ว

โทษที่ได้รับ :
          หลายคนคิดว่า การเสพกัญชานั้นไม่มีโทษร้ายแรงมากนัก แต่จากการศึกษาวิจัย พบว่า กัญชาเป็นยาเสพติดอีกชนิดหนึ่ง ที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพมากเกินกว่าที่คาดคิด อาทิเช่น
1. ทำลายสมรรถภาพทางกาย ผู้เสพกัญชาในปริมาณมาก เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม จนไม่สามารถประกอบกิจการงานใดๆ ได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงงาน ความคิด และการตัดสินใจ รวมทั้งจะมีลักษณะ Amotivation Syndrome คือ การหมดแรงจูงใจของชีวิต จะไม่คิดทำอะไรเลย อยากอยู่เฉยๆ ไปวันๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานเป็นอย่างมาก
2. ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การเสพติดกัญชามีผลร้ายคล้ายกับการติดเชื้อเอดส์ (HIV) กล่าวคือ กัญชาจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเสื่อมลงหรือบกพร่อง ร่างกายจะอ่อนแอและติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย
3. ทำลายสมอง การเสพกัญชาแม้เพียงในระยะสั้น ทำให้ผู้เสพบางรายสูญเสียความทรงจำ เพราะฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้สมองและความจำเสื่อม เกิดความสับสน วิตกกังวล และหากผู้เสพเป็นผู้มีอาการของโรคจิตเภท หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความเสี่ยง ที่จะเกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติทั่วไป
4. ทำให้เกิดมะเร็งปอด เนื่องจากผู้เสพจะอัดควันกัญชาเข้าไปในปอดลึกนาน หลายวินาที การสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชาเพียง 4 มวน ซึ่งเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 ซอง หรือ 20 มวน นั้นสามารถทำลายการทำงานของระบบ ทางเดินหายใจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิด โรคมะเร็งได้มากกว่าคนสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 5 เท่า และในกัญชายังมีสารเคมีที่เป็นอันตราย สามารถให้เกิดโรคมะเร็งได้
5. ทำร้ายทารกในครรภ์ กัญชาจะทำลายโครโมโซม ฉะนั้นหญิงที่เสพกัญชาในระยะตั้งครรภ์ ทารกที่เกิดมาจะพิการมีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น ความผิดปกติของเซลล์ประสาทในสมอง ความผิดปกติของฮอร์โมนเพศและพันธุกรรม
6. ทำลายความรู้สึกทางเพศ กัญชาจะทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในชายลดลง ทำให้ปริมาณอสุจิน้อยลง ทั้งยังพบว่า ผู้เสพติดกัญชามักกลายเป็นคนขาดสมรรถภาพทางเพศ
7. ทำลายสุขภาพจิต ฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้ผู้เสพมีอาการเลื่อนลอย ฝันเฟื่อง ความคิดสับสนและมีอาการประสาทหลอนจนควบคุมตนเองไม่ได้ ซึ่งถ้าเสพเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีอาการจิตเสื่อม
          นอกจากผลร้ายที่มีต่อร่างกายและจิตใจ ของผู้เสพแล้ว การขับรถขณะเมากัญชายังก่อให้เกิดอันตรายได้มาก เพราะฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้เสียสมาธิ ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด การตอบสนองช้าลง การรับรู้ทางสายตาบิดเบือน ความสามารถในการมองเห็นส่งเคลื่อนที่ด้อยลง จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ขับรถยนต์ หรือแม้แต่เดินบนท้องถนนก็ตาม

สารระเหย (Inhalant)


สารระเหย (Inhalant)

สารระเหย คือ สารที่ได้จากขบวนการสกัดน้ำมันปิโตรเลียม มีลักษณะเป็นไอ ระเหยได้ในอากาศ ประกอบด้วย Toluene, Acetone, Butane, Benzen, Trichloroe Thylene ซึ่งพบในกาว แลคเกอร์ ทินเนอร์ น้ำมันเบนซิน ยาล้างเล็บ เมื่อสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
อาการผู้เสพ :
ผู้เสพจะมีอาการเคลิบเคลิ้ม ศีรษะเบาหวิว ตื่นเต้น พูดจาอ้อแอ้ พูดไม่ชัด น้ำลายไหลออกมามาก เนื่องจากสารที่สูดดมเข้าไป ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุภายในจมูกและปาก การสูดดมลึก ๆ หรือซ้ำ ๆ กัน แม้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำให้ขาดสติหรือเป็นลมชัก กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน ระบบประสาทอัตโนมัติ (Reflexes) ถูกกด มีเลือดออกทางจมูก หายใจไม่สะดวก

โทษที่ได้รับ :
  1. ระบบทางเดินหายใจ มีอาการระคายเคืองหลอดลม เยื่อบุจมูกมีเลือดออก หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ
  2. ระบบทางเดินอาหาร มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เนื้อตับถูกทำลาย
  3. ระบบทางเดินปัสสาวะ ไตอักเสบจนถึงพิการ ปัสสาวะเป็นเลือดเป็นหนอง หรือมีลักษณะคล้ายไข่ขาว
  4. ระบบหัวใจและหลอดเลือด หัวใจเต้นผิดปกติ
  5. ระบบสร้างโลหิต ไขกระดูกซึ่งมีหน้าที่สร้างเม็ดโลหิตหยุดทำงาน เกิดเม็ดโลหิตแดงต่ำ เกล็ดเลือดต่ำทำให้ซีด เลือดออกได้ง่าย ตลอดจนทำให้เลือดแข็งตัวช้าในขณะที่เกิดบาดแผล บางรายเกิดเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาว
  6. ระบบประสาท ปลายประสาทอักเสบ มีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า เกิดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ ทำให้ลูกตาแกว่ง ลิ้นแข็ง พูดลำบาก สมองถูกทำลายจนเซลล์สมองฝ่อ เป็นโรคสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร
ฤทธิ์ในทางเสพติด :
สารระเหยออกฤทธิ์กดระบบประสาท มีอาการเสพติดทางร่างกายเล็กน้อย มีอาการเสพติดทางจิตใจ มีอาการขาดยาแต่ไม่รุนแรง

โทษทางกฎหมาย :
สารระเหยจัดเป็นสารเสพติดตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533

ความหมายของ ยาเสพติด



ยาเสพติด คือ อะไร ?

ยาเสพติด หมายถึง สารหรือยาที่อาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ หรือจากการสังเคราะห์ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยการกิน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยวิธีการใดๆ แล้วจะทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจ ในลักษณะสำคัญ เช่น

ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อย ๆ
มีอาการอยากยาเมื่อขาดยา
มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกาย และจิตใจอย่างรุ่นแรงและต่อเนื่อง
สุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง


ประเภทของยาเสพติด


ประเภทของยาเสพติด
๑. ประเภทของยาเสพติด
          จำแนกตามการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท แบ่งเป็น ๔ ประเภท
          ๑. ประเภทกดประสาท ได้แก่ ฝิ่น  มอร์ฟีน  เฮโรอีน ยานอนหลับ ยาระงับประสาท ยากล่อมประสาทเครื่องดื่มมึนเมา
ทุกชนิด รวมทั้ง สารระเหย เช่น ทินเนอร์ แล็กเกอร์ น้ำมันเบนซิน กาว เป็นต้น มักพบว่าผู้เสพติดมี ร่างกายซูบซีด ผอมเหลือง
อ่อนเพลีย ฟุ้งซ่าน อารมณ์ เปลี่ยนแปลงง่าย
          ๒. ประเภทกระตุ้นประสาท ได้แก่ ยาบ้า  ยาอี กระท่อม  โคเคน มักพบว่าผู้เสพติดจะมีอาการ หงุดหงิด กระวนกระวาย จิตสับสนหวาดระแวง บางครั้งมีอาการคลุ้มคลั่ง หรือทำในสิ่งที่คนปกติ ไม่กล้าทำ เช่น ทำร้ายตนเอง หรือฆ่าผู้อื่น เป็นต้น
          ๓. ประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอลเอสดี และ เห็ดขี้ควาย เป็นต้น ผู้เสพติดจะมีอาการประสาทหลอน ฝันเฟื่องเห็นแสงสีวิจิตรพิสดาร หูแว่ว ได้ยินเสียง ประหลาดหรือเห็นภาพหลอนที่น่าเกลียดน่ากลัว ควบคุมตนเองไม่ได้ ในที่สุดมักป่วยเป็น
โรคจิต
          ๔. ประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน คือทั้งกระตุ้นกดและหลอนประสาทร่วมกันได้แก่ ผู้เสพติดมักมี อาการหวาดระแวง ความคิดสับสนเห็นภาพลวงตา หูแว่ว ควบคุมตนเองไม่ได้และป่วยเป็นโรคจิตได
๒. แบ่งตามแหล่งที่มา
          แบ่งตามแหล่งที่เกิด ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
          ๑. ยาเสพติดธรรมชาติ (Natural Drugs) คือ ยาเสพติดที่ผลิตมาจากพืช เช่น ฝิ่น  มอร์ฟีน  กระท่อม  กัญชา เป็นต้น
          ๒. ยาเสพติดสังเคราะห์ (Synthetic Drugs) คือ ยาเสพติดที่ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมี เช่น เฮโรอีน แอมเฟตามีน  ยาอี  เอ็คตาซี เป็นต้น
๓. แบ่งตามกฎหมาย
          แบ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ
          ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ ๑  ได้แก่ เฮโรอีน  แอลเอสดี  แอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า  ยาอี หรือ ยาเลิฟ
          ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ ๒ ยาเสพติดประเภทนี้สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่ต้องใช้ภายใต้
การควบคุมของแพทย์ และใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน โคเคน หรือ โคคาอีน โคเคอีน และเมทาโดน
          ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ ๓  ยาเสพติดประเภทนี้  เป็นยาเสพติดให้โทษที่มียาเสพติดประเภทที่ ๒ ผสมอยู่ด้วย
มีประโยชน์ทางการแพทย์ การนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น หรือเพื่อเสพติด จะมีบทลงโทษกำกับไว้ ยาเสพติดประเภทนี้ ได้แก่
ยาแก้ไอ ที่มีตัวยาโคเคอีน ยาแก้ท้องเสีย ที่มีฝิ่นผสมอยู่ด้วย ยาฉีดระงับปวดต่าง ๆ เช่น มอร์ฟีน เพทิดีน ซึ่งสกัดมาจากฝิ่น
          ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ ๔ คือสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ ๑ หรือประเภทที่ ๒ ยาเสพติดประเภทนี้ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการบำบัดโรคแต่อย่างใด และมีบทลงโทษกำกับไว้ด้วย ได้แก่น้ำยาอะเซติคแอนไฮไดรย์ และ อะเซติลคลอไรด์ ซึ่งใช้ในการเปลี่ยน มอร์ฟีน เป็น เฮโรอีน สารคลอซูไดอีเฟครีน สามารถใช้ในการผลิต ยาบ้า ได้ และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอีก ๑๒ ชนิด ที่สามารถนำมาผลิตยาอีและยาบ้าได้
          ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ ๕ เป็นยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าข่ายอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ ๑ ถึง ๔ ได้แก่ ทุกส่วนของพืช กัญชา ทุกส่วนของพืช กระท่อม เห็ดขี้ควาย เป็นต้น


โทษของสารเสพติด



โทษภัยต่อครอบครัว

• ทำลายความสุขในบ้าน ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของสมาชิกในครอบครัว เป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่าง ตามมาจนอาจทวีความรุนแรงให้ครอบครัวแตกแยก

• สูญเสียรายได้ของครอบครัว เนื่องจากมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการซื้อ ยาเสพติด หรือบำบัดรักษาผู้ที่ติดยาเสพติด

• พ่อแม่ ผู้ปกครอง ขาดที่พึ่งในยามเจ็บป่วยหรือชราภาพ

• ทำลายชื่อเสียงวงศ์ตระกูล และเป็นที่รังเกียจของสังคม

• ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน เพราะคนในครอบครัวที่มีปัญหายาเสพติด มักจะก่ออาชญากรรม

โทษภัยต่อชุมชนและสังคม

• ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆในชุมชน

• เป็นบ่อเกิดให้ชุมชนเสื่อมโทรม สังคมถูกทำลาย

• ทำลายเยาวชน อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนและสังคม

• ทำให้การพัฒนาชุมชน และสังคมในด้านต่าง ๆเป็นไปอย่างเชื่องช้า

• สูญเสียรายได้ของชุมชนและสังคม

• ทรัพย์สินของคนในชุมชนและสังคมเสียหาย เนื่องจากพฤติกรรมทางจิตประสาท

• ก่อให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุเนื่องจากฤทธิ์ของยา
• ก่อให้เกิดปัญหาโรคเอดส์ 


โทษภัยต่อประเทศชาติ

• บ่อนทำลายเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศชาติ

• รัฐบาลต้องสูญเสียกำลังเจ้าหน้าที่และค่าใช้จ่ายในการป้องกันปราบปรามและรักษาผู้ติดยาเสพติดจำนวนมาก

• สูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสำหรับการพัฒนาประเทศ

• เพิ่มภาระการเสียภาษีของประชาชน เพราะรัฐบาลต้องนำภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหายาเสพติด

• การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปอย่างเชื่องช้า

• สูญเสียแรงงานในการปฏิบัติงานทำให้ประเทศขาดรายได้

• ประเทศชาติต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติภูมิ ในสายตาของชาวต่างประเทศ

• อาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งทางการเมืองหรือความไม่สงบระหว่างประเทศ

• ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีต่อชาติอาจใช้ยาเสพติดเป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลายความมั่นคง

• ประเทศชาติพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า